“แม้ความสูงมีผลจากกรรมพันธุ์ แต่ที่จริงแล้วมีวิธีเพิ่มความสูงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายวิธี ตั้งแต่วิธีแบบธรรมชาติจนไปถึงการใช้ตัวช่วย” ซึ่งก่อนที่จะลงไปถึงวิธีเหล่านั้น แอดมินขอพูดถึงปัจจัยที่ทำให้สูง ดังนี้
อะไรทำให้สูง/เตี้ย?
1. กรรมพันธุ์: นักวิทยาศาสตร์ประเมิณว่ากรรมพันธุ์มีผลประมาณ 60-80% ถ้าพ่อแม่สูงทั้งคู่ลูกก็มักจะสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สูงทั้งคู่ลูกจะไม่ค่อยสูงเช่นกัน ส่วนถ้าพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูง ลูกก็มักจะมีความสูงในระดับกลางๆ โดยพันธุกรรมฝ่ายแม่จะมีผลต่อความสูงมากกว่าฝ่ายพ่อ แต่ในบางกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้เตี้ยเพราะกรรมพันธุ์ เช่น สารอาหารไม่เพียงพอหรือทำงานหนักพักผ่อนน้อยในวัยเด็ก ลูกที่โตมาก็สามารถจะสูงกว่าพ่อแม่ได้หากได้รับสารอาหารและการเลี้ยงดูที่ดี
2. ปัจจัยภายในร่างกาย: มีหลายปัจจัยในร่างกายที่ส่งผลต่อความสูง แต่ตัวแปร 3 ตัวนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องเข้าใจ
• โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone – HGH): ช่วยในการเจริญเติบโตซึ่งสำคัญที่สุดในการเพิ่มความสูง
• ไทรอยด์ (Thyroid Gland) โดยเฉพาะฮอร์โมนไทร็อกซิน (Thyroxin) ทำหน้าที่กระตุ้นให้กระดูกมีพัฒนาการที่ดี ถ้าขาดฮอร์โมนนี้อาจทำให้มีรูปร่างเตี้ยและไม่สมส่วนได้
• ฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน Estrogen (ฮอร์โมนเพศหญิง) และเทสโทสเตอโรน Testosterone (ฮอร์โมนเพศชาย) มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะไปกระตุ้นการหลั่งของโกรทฮอร์โมนให้เพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นให้กระดูกยืดยาว จึงเป็นสาเหตุว่าคนเรามักโตเร็วช่วงวัยรุ่น
3. โภชนาการ: ทั้งในช่วงที่เด็กยังอยู่ในท้องและวัยเติบโต หากได้อาหารที่ดีและครบถ้วน 5 หมู่ (ไม่ใช่เพียงแค่โปรตีนแต่ต้องครบถ้วน) ก็จะเพิ่มความสูงได้มาก ดังนั้นจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นและเกาหลีรุ่นใหม่มีส่วนสูงเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมากจากการที่ประเทศให้ความสำคัญกับโภชนาการแม้ว่าคนรุ่นก่อนจะตัวเตี้ยมากก็ตาม
4. การออกกำลังกาย: แม้ว่าจะมีกรรมพันธุ์และโภชนาการที่ดี แต่หากขาดการออกกำลังกายก็มีโอกาสที่จะเตี้ยเช่นกัน เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการหลังของโกรทฮอร์โมนให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบที่ทำให้มีการยืดของร่างกายวันละประมาณ 30-60 นาที เช่น ว่ายน้ำ กระโดดเชือก บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือแบบห้อยโหนตัว เป็นต้น
5. การพักผ่อนและความเครียด: โดยในกลุ่มนักเรียนที่แข่งขันสูง ทำให้เด็กเครียดมากขึ้นซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการหลั่งฮอร์โมนในช่วงการเจริญเติบโต หรือส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล ทำให้เด็กขาดการพัฒนาความสูงไปตามกรรมพันธุ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นจะสังเกตุว่าเด็กเอเชียและเด็กที่เรียนหนังสือหนักมักตัวเตี้ยกว่าเด็กที่เรียนน้อยกว่า
6. บุคลิกภาพ: หลายๆคนแม้จะมีโครงสร้างร่างกายที่ยาวแต่กลับดูไม่สูงเพราะตัวไม่ตรงหรือกระดูกคดงอเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อโรคภัยที่อาจตามมา ดังนั้นการปรับบุคลิกที่ดีและถูกต้องจะช่วยให้ร่างกายแสดงความสูงออกมาได้อย่างเต็มที่
7. การแต่งตัว: เช่นเดียวกับบุคลิกภาพ หากตกม้าตายตอนจบที่เสื้อผ้าซึ่งทำให้คุณดูอ้วนหรือเตี้ยล่ำก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ดังนั้นควรเลือกเสื้อผ้าแบบที่ทำให้คุณเฉิดฉายความสง่าออกมา
คนเราสูงช่วงไหนบ้าง?
ช่วงที่ 1: 0-2 ปี
ช่วงที่ 2: 2-11 ปี โดยจะสูงขึ้นเฉลี่ย 5 ซม.ต่อปี
ช่วงที่ 3: ช่วงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกินเวลาประมาณ 4-5 ปี
เพศหญิงจะมีการเติบโตที่เร็ว เมื่ออายุ 11.5 ปี และน้อยลงเมื่ออายุ 16 ปี โดยจะสูงขึ้นเฉลี่ย 8 ซม.ต่อปีในช่วงดังกล่าว
ส่วนเด็กผู้ชาย จะเริ่มที่อายุ 13.5 ปี และหยุดโตเมื่ออายุ 20 ปี อัตราการเพิ่มความสูงอยู่ที่ 10-12 ซม.ต่อปีในช่วงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเพิ่มความสูงของร่างกาย
ช่วงที่ 4: 17-18 ปี เป็นช่วงที่มีการเติบโตเกือบเต็มที่แล้ว หรือประมาณ 95-98% ของความสูงของผู้ใหญ่เต็มตัว
ทำไมคุณควรที่จะสูง?
มีการศึกษาเชิงประจักษ์ (Empirical Study) ว่าคนตัวสูงมักมีรายได้ที่ดีกว่าและโอกาสการออกเดทที่มากกว่าคนตัวเตี้ย ทั้งนี้อาจมาจากบุคลิกภาพที่ดีกว่า นอกจากนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิปดีที่อเมริกาที่มีผู้แข่งขันคะแนนสูสีกัน ผู้ที่ตัวสูงกว่ามักจะได้รับเลือกตั้ง หรือแม้แต่หลายอาชีพเช่น แอร์โฮสเตส, สจ๊วต, นางแบบและนายแบบ ก็จะมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการรับสมัครในภาคปฏิบัติเลยทีเดียว และที่สำคัญคือคนเราจะหยุดสูงช่วงอายุประมาณ 19-25 และหลังจากนั้นก็จะหมดสิทธิ์ที่จะสูงอีกแล้ว (ยกเว้นผ่าตัดหรือยืดกระดูก) ดังนั้นคุณไม่ควรพลาดโอกาสที่จะสูงในช่วงที่คุณยังทำได้
วิธีเพิ่มความสูงโดยวิธีธรรมชาติ
1. ออกกำลังกาย: เน้นการออกกำลังกายที่ทำให้มีการยืดตัววันละประมาณ 30-60 นาที โดยเฉพาะ ว่ายน้ำ บาสเกตบอล วอลเลย์บอล วิ่ง เต้น หรือในลักษณะห้อยโหนตัว เป็นต้น เพราะการออกกำลังกายจะไปกระตุ้นการหลั่งของโกรทฮอร์โมนให้เพิ่มขึ้น โดยควรออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาที สม่ำเสมอ และไม่ควรขาดตอนในแต่ละสัปดาห์
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่: ควรเน้นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน, วิตามิน, แคลเซียมและแร่ธาตุ คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าต้องดื่มแต่นมเพื่อเอารับโปรตีนมากๆเท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่เพราะวิตามินหลายๆชนิดมีส่วนในการเสริมระบบการทำงานข้างในที่จะเพิ่มความสูงไปด้วย ดังนั้นจึงขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ โดยต้องรับประทานให้ครบ 3 มื้อทุกวัน และควรงดทานอาหารที่ประโยชน์น้อยเช่นน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แป้ง กาแฟ (เพราะทำให้นอนไม่หลับ) และควรงดบุหรี่ ในทางปฏิบัติแล้วคุณควรดื่มนมให้ได้วันละ 2 แก้ว หลังอาหาร(เช้าและก่อนนอน) เพราะนมอุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและกระดูก และผสมกับผัก, ผลไม้และเนื้อสัตว์เข้าไปด้วยทุกมื้อ โดยไม่ควรเลือกที่จะเน้นชนิดอาหารอย่างเดียวมากๆในมื้อหรือวันหนึ่งๆ เพราะร่างกายไม่สามารถรับแร่ธาตุเกินปริมาณจำกัดใน 1 วันได้ และคุณจะเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
3. พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอและเป็นเวลา ควรนอนอย่างน้อย 9-11 ชั่วโมงโดยเฉพาะถ้าคุณอายุยังไม่ถึง 20 ปีและไม่ควรนอนดึกเพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งในช่วงเที่ยงคืนถึงตีห้า และจะหลั่งออกมามากถ้าหากนอนหลับอย่างสนิท แต่หากคุณหลับๆตื่นๆจะทำให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาน้อยมาก
4. ลดความอ้วน: แม้ว่าความอ้วนไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับการเร่งความสูง แต่ความอ้วนจะเป็นอุปสรรคต่อปัจจัยอื่นๆ เช่นการออกกำลังกายได้น้อยลง อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรอดอาหารที่จะลดความอ้วนในข้อนี้ เพราะคุณจะได้สารอาหารที่ไม่ครบในการเพิ่มความสูง ดูวิธีลดน้ำหนักเพิ่มเติมได้ที่นี่
วิธีเพิ่มความสูงโดยการปรับบุคลิกภาพและแต่งตัว
1. ทำตัวให้ตรง (Good Posture): โดยเลิกการยืนเดินแบบหลังค่อมหรือห่อไหล่ เพราะมันจะทำให้กระดูกงอและเตี้ยลง อีกทั้งยังดูไม่สง่าและหายใจไม่สะดวกด้วย ทั้งนี้คุณควรเริ่มจากคำที่คุณคุ้นเคยว่าอกผายไหล่ผึ่ง หรือศึกษา Alexander technique เพิ่มเติม
2. ใส่ส้นสูงหรือแผ่นรองส้น: ผู้หญิงทำได้ง่ายโดยการใส่ส้นสูง ซึ่งช่วยเพิ่มได้ 3-10 ซม. แต่ผู้ชายก็ทำได้เช่นกันโดยการใส่แผ่นรองส้นเท้า ซึ่งช่วยเพิ่มได้ 1-3 ซม. โดยแผ่นรองส้นหาได้ตามร้านสะดวกซื้อและห้างทั่วไป ทั้งนี้คุณควรเลือกแผ่นรองส้นที่เหมาะกับสภาพเท้าคุณอย่างแท้จริง มิเช่นนั่นแล้วอาจเกิดผลเสียต่อกระดูกคุณได้
3. แต่งตัวให้ดูสูง: โดยเฉพาะเสื้อที่เป็นลายในแนวตั้ง และทรงที่แนบกับลำตัว เพราะมันจะทำให้คุณดูผอม ซึ่งจะสร้างภาพลวงตาว่าคุณดูตัวสูงขึ้น
วิธีเพิ่มความสูงโดยใช้ตัวช่วยทางการแพทย์
1. ฉีดยาหรือกินยาเพิ่มความสูง: โดยใช้โกรทฮอร์โมนเพิ่มความสูง หรือฮอร์โมนจีเอช (Growth hormone : GH) ก่อนอื่นควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนซึ่งถ้าหากลูกของคุณไม่ได้ขาดฮอร์โมนชนิดนี้มากกว่าระดับปกติแล้ว การที่ฉีดเพิ่มเข้าไปจะกลายเป็นผลเสียซะมากกว่าเช่น ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง การฉีดไปเยอะๆอาจทำให้เด็กเป็นโรคเบาหวาน โรคกระดูก โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
2. กิน Colostrum, Niacin, และ Amino Acids เพื่อเพิ่มความสูง: มีผลการศึกษาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยเพิ่มความสูงได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบเคมีที่ร่างกายใช้ในการเพิ่มความสูง อย่างไรก็ดีคุณควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เพราะร่างกายคนแต่ละคนมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน
3. ผ่าตัดเพื่อเพิ่มความสูง: โดยผ่าตัดยืดกระดูก ที่บริเวณขา หน้าแข้ง ซึ่งจะวางยาสลบและใส่เครื่องยืดกระดูก แล้วแยกกระดูกออกจากกันด้วยการยิงลวดตัดผ่านเข้าชั้นกระดูกเพื่อยึดลวดด้านบนและล่างที่จะใช้ในการถ่างและยืดกระดูกที่ตัดออกจากกันวันละ 1 มิลลิเมตร โดยตามทฤษฎีแล้วสามารถเพิ่มความสูงได้มากถึง 5 ซม. แต่วิธีนี้คือมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น กระดูกที่อาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเพราะได้จากการเชื่อมต่อ อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการรักษานานเป็นปีและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด กระดูกไม่ติดกัน กระดูกเบี้ยว ไม่ตรงเหมือนเดิม และเสี่ยงเป็นอัมพาต
4. วิธีการเพิ่มความสูงโดยการคุกเข่าแบบญี่ปุ่น: วิธีนี้ทำได้ทุกวัย ซึ่งเป็นเทคนิคจากแพทย์โรคกระดูกญี่ปุ่น โดยจะช่วยเพิ่มความสูงได้ประมาณ 1 ซม. และต้องทำวันละ 1 นาที โดยวิธีการง่ายๆก็คือ ให้นั่งคุกเข่าแล้วโน้มตัวไปด้านหลังจนนอนราบ แล้วยืดแขนขึ้นด้านบนราบกับพื้น และค้างท่านี้ไว้ประมาณ 1 นาทีจะช่วยให้กระดูกที่งอหรือคดตามอายุที่เพิ่มขึ้นของคุณให้กลับมาอยู่ในแนวตรงเหมือนเดิมเหมือนตอนวัยรุ่น ผลลัพธ์ก็คือการได้ความสูงที่แท้จริงของเรากลับมา
ขอบคุณข้อมูลและรูปประกอบจาก: Ohlor, Wikipedia.org, Growtallerreport.com, Mirror.co.uk, Exploreruk.com, Growtaller4idiotssystem.weebly.com
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า